CTD – รับเหมาก่อสร้าง ที่ใหญ่สุดในตลาด

Coteccons Construction JSC (CTD)

ผู้นำในกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มรับเหมาฯ, รับงานครอบคลุมทั้งประเทศเวียดนาม (เหนือ กลาง ใต้) มีมาร์เกตแคป 23,700 ล้านบาท (CK ของไทย 44,460 ล้านบาท)

 

ปี 2016 รายได้ของ CTD คิดเป็น 8.1% ของ GDP ภาคก่อสร้างของเวียดนาม (ในเวียดนามมีบริษัททำรับเหมาที่เป็นของต่างชาติอยู่หลายบริษัท)

 


 

ตลาดงานก่อสร้างของเวียดนาม แบ่งได้เป็น 3 ส่วน

1. งานที่อยู่อาศัย (residential construction)

คิดเป็นสัดส่วน 39% ของตลาดทั้งหมด, มีมูลค่างานโตเฉลี่ยปีละ 15%

 

2. งานไม่ใช่ที่อยู่อาศัย (non-residential construction)

คิดเป็นสัดส่วน 17% ของตลาดทั้งหมด, มูลค่างานโตเฉลี่ยปีละ 20%

 

3. งานโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)

คิดเป็นสัดส่วน 32% ของตลาดทั้งหมด, มูลค่างานโตเฉลี่ยปีละ 8.2%

 

4. งานโครงสร้างพิเศษ (energy & utilities construction)

คิดเป็นสัดส่วน 12% ของตลาดทั้งหมด, มูลค่างานโตเฉลี่ยปีละ 8.2%

 


 

CTD มีนโยบายที่สำคัญคือ no-debt policy จะไม่กู้เงินมาขยายงานเลย ซึ่งถ้ามองเป็นข้อดี ก็คือบริษัทมีความมั่นคงมาก ไม่มีความเสี่ยงเรื่องภาระดอกเบี้ย แต่ถ้ามองข้อเสียก็คือ บริษัทไม่มี leverage เลย จะขยายงานและโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม รายได้ของ CTD มี CAGR ปี 2012-2016 ถึง 47% และยังมี ROE สูงถึง 24% อีกด้วย (บางบริษัทที่ leverage เยอะๆยังมี ROE ไม่เท่า CTD เลย)

 

CTD มีความสามารถในการเก็บหนี้ที่ดี มี days of receivables (DOR) เพียง 62 วัน ในขณะที่คู่แข่งในภูมิภาคมี DOR 91 วัน

 

เหล็กก่อสร้าง และทราย คิดเป็น 56% และ 5% ของต้นทุน (COGS) ของ CTD

 

CTD มีบริษัทย่อย 3 บริษัทคือ

1. Unicons (ถือหุ้น 100%) มีรายได้ 4,188 หมื่นล้านดอง เน้นงาน residential และ non-residential

2. FCC (ถือหุ้น 35%) มีรายได้ 16 หมื่นล้านดอง เน้นงาน infrastructure

3. Ricon (ถือหุ้น 19.2%) มีรายได้ 4,790 หมื่นล้านดอง รับออกแบบ, ก่อสร้าง และรวมทั้งเป็นเจ้าของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองด้วย, CTD มีแผนที่จะถือหุ้น Ricon 100% ในปี 2018-2019 เพื่อลดข้อครหาความไม่โปรงใสในเรื่อง transfer pricing ในโครงการที่ CTD ได้งาน และส่งต่อให้ Ricon

 

 

ลักษณะการรับงานของ CTD จะมีสองแบบคือ

1. แบบดั้งเดิม (traditional) คือประมูลรับงาน ตามสเปคงานเจ้าของโครงการ

2. แบบ Design & Build (D & B) ซึ่ง CTD จะรับผิดชอบทั้งการการดีไซน์ ก่อสร้าง ที่ปรึกษา และบริหารโครงการ ซึ่งบริษัทบอกว่าจะช่วยลดเวลาก่อสร้างได้ถึง 30% และลด cost ได้ถึง 10%

 

การรับงานแบบ D & B จะทำให้ CTD มี marginประมาณ 10% สูงกว่าการรับงานแบบดั้งเดิม ที่มี margin 6-7%

ปัจจุบัน CTD มีสัดส่วนของการรับงานแบบดั้งเดิมอยู่ที่ 64%

 

ปี 2016 เป็นปีที่ดีมากของ CTD โดยมีรายได้ 20,783 หมื่นล้านดอง (3 หมื่นล้านบาท) โต 52% , มี gross margin 8% (peer ในตลาดมี gross margin 5-9%) และมี net margin 6.8% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,422 หมื่นล้านดอง (2 พันล้านบาท) โต 60%

 

(CK ปี 2017 มีรายได้ 3.6 หมื่นล้านบาท, กำไร 1.8 พันล้านบาท)

 

สัดส่วนรายได้ของ CTD มาจากงาน residential ถึง 71%  และงาน industrial construction 13% แต่งานส่วน industrial นั้นจะมี margin โดยเฉลี่ยสูงกว่างาน residentialถึง 10%

 

ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ CTD พึ่งพางานจาก Vingroup (VIC) ค่อนข้างมาก โดยในปี 2016 CTD มีรายได้ที่มาจากโครงการของ Vingroup สูงถึง 50% เลยทีเดียว

 

CTD พยายามที่จะกระจายความเสี่ยงธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มรับงาน infrastructure มากขึ้น มีการวางแผนซื้ออาคารสำนักงาน มาปล่อยเช่า และมีร่วมมือกับ Viglacera (VGC) ในเรื่องของวัสดุก่อสร้าง

 

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ใน CTD คือ กลุ่ม Kusto Group (ถืออยู่ 35%) ที่มีการลงทุนในหลายประเทศและธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ในยุโรปตะวันออก, รัสเซีย; ธุรกิจ oil & gas ใน คาซัคสถาน;  ธุรกิจสีใน อิสราเอล, ธุรกิจเกษตร ในคาซัคสถานและยูเครน