SBUX – 1 สาขา ราคา 90 ล้านบาท

Starbucks Corporation (SBUX)

 

Starbucks อาจจะไม่ไช่กาแฟที่อร่อยที่สุด แต่ต้องยอมรับว่า Starbucks เป็นแบรนด์กาแฟที่แข็งแรงที่สุด ได้รับการยอมรับมากที่สุด คนกินกาแฟ Starbucks จะได้ภาพลักษณ์ที่ดูดี มีรสนิยม (โดยเฉพาะในสังคมบ้านเรา) ภาพคนถือแก้วกาแฟ, หรือของพรีเมี่ยมต่างๆ พิมพ์ลายโลโก้นางเงือกสีเขียว เป็นภาพที่เห็นได้ชินตา มีสาวกและแฟนพันธ์แท้อย่างเหนี่ยวแน่น หลายคนกินจนสามารถสะสมคะแนนใน Starbucks Rewards Card ได้ถึงระดับ Gold Level ที่ปีนึงต้องสะสม “ดาว” อย่างน้อย 250 ดวง (หรือคิดเป็นเงินกว่า 30,000 บาท) แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสะสมเป็น “หุ้น” Starbucks แทน “ดาว” ในบัตรสมาชิก

 

 

ณ เดือนเมษา 2018 Starbucks ทั่วโลก มีสาขารวมทั้งหมด 28,209 สาขา ในทั้งหมด 76 ประเทศ แบ่งเป็นสาขาของบริษัทเองและที่ให้ Licenseไปบริหาร อย่างละครึ่งๆ, ในไทยมีทั้งหมด 332 สาขา และเป็น 1 ใน 3 ประเทศของทวีปเอเชียที่ Starbucks เลือกที่จะเข้ามาบริหารเอง (อีก 2 ประเทศคือ ญี่ปุ่น และจีน)

 

Fiscal Year 2017 (ปิดงบสิ้นเดือนกันยายน), Starbucks มีรายได้รวม 22,386 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 730,000 ล้านบาท) โตขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2016 และมีกำไรสุทธิ 2,885 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 94,000 ล้านบาท) โตขึ้น 2.4%

 

SBUX มี SSSG (ในอเมริกาเรียก Comparable Store Sales) โต 3% โดยที่จำนวน transaction ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่โตได้จาก ticket size ที่สูงขึ้น (ลูกค้าอาจซื้อแก้วใหญ่ขึ้น, ซื้อพร้อมขนม หรืออาจเป็นที่ Starbucks ขึ้นราคาสินค้า) ถ้าแยกดูตามพื้นที่แล้วจะพบว่าในอเมริกา Comp Store Sales โต 3%, จีนโตมากสุด 7% โดยโตจาก transaction ที่เพิ่มขึ้น 5%

 


 

หุ้น Starbucks จดทะเบียนในตลาด Nasdaq มี Market cap อยู่ที่ 78.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ที่ ราคาหุ้น $57) มี PE อยู่ที่ 18 เท่า (รวมกำไรพิเศษ) ปันผลปีละประมาณ 2% เมื่อเทียบกับการเติบโตของรายได้  5% ในปี 2017 และ 11% ในปี 2016

 

คิดง่ายๆว่า ถ้าวันนี้เราซื้อหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดของ Starbucks จะต้องใช้เงิน 78.8 พันล้านเหรียญ และจะได้ร้าน Starbucks มาทั้งหมด 28,000 สาขา ซึ่งเท่ากับว่า 1 สาขาของ Starbucks มีมูลค่า 90 ล้านบาท และจะมีปันผลให้สาขาละ 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งนี้ยังไม่รวมการขยายสาขาเพิ่มเติมในอนาคต (ปี 2017 Starbucks มีสาขาเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2016)

 


ยังคงมีความมุ่งมั่นในการเติบโต

เช่นเดียวกับบริษัท consumer products อื่นๆในอเมริกา, Starbucks มุ่งเน้นที่จะสร้างการเติบโตในจีน เพราะตลาดในอเมริกานั้นเริ่มจะไม่โตแล้ว (Starbucks เองก็ยอมรับว่าตลาด Americas นั้น mature แล้ว) ดังจะเห็นได้ว่าปี 2017 Starbucks ได้ซื้อร้าน Starbucks ในจีนที่เคยให้ License ไปทั้งหมด 1,400 สาขา กลับเข้ามาบริหารเอง ซึ่งหลายคนก็สงสัยว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะตลาดจีนถือว่าเป็นตลาดปราบเซียน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเข้าไปบริหารสาขาเองทั้งหมดในจีนของ Starbucks จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงพอสมควร

 

Starbucks ได้มีความพยายามเข้าสู่ธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกาแฟ, ในปี 1999 Starbucks ได้จ่ายเงิน 8.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อแบรนด์ชา Tazo เข้ามาบริหาร และในปี 2017 ได้ขายแบรนด์ Tazo ให้กับ Uniliver ด้วยมูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับ Teavana แบรนด์ชาอีกแบรนด์ที่ Starbucks ได้ซื้อเข้ามาบริหาร

 

แบรนด์ Teavana ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องดื่มเฉพาะประเภทชา ถูก Starbucks ซื้อเข้ามาในปี 2012 ด้วยมูลค่า 620 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2017 Starbucks ได้ตัดสินใจปิดสาขาของ Teavana ที่มีอยู่ทั้งหมด 379 สาขา คงเหลือแต่เมนู Teavana ไว้ขายในร้านของ Starbucks เอง

 

 

ปี 2018 Starbucks ได้ทำดีลกับ Nestle เจ้าของแบรนด์กาแฟ Nescafe และ Nespresso โดยให้สิทธิ์ (exclusive rights) แก่ Nestle ในการขายสินค้า Starbucks (เมล็ดกาแฟ, RTD, กาแฟ single-serve) จำหน่ายนอกร้าน Starbucks ได้ทั่วโลก โดยดีลนี้ Starbucks ได้เงินไป 7.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ปกติ Starbucks มีรายได้จากสินค้ากลุ่มนี้ ปีละ 2 พันล้านเหรียญ)

 

การกระทำของ Starbucks ในกรณี Nestle, ปิดหน้าร้าน Teavana และซื้อสาขาในจีนกลับมาบริหารเอง นั้น อาจสะท้อนได้ถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นของ Starbucks ที่จะโฟกัสการเติบโตด้วยการพัฒนาหน้าร้านกาแฟของตัวเอง

 

ณ ราคาปัจจุบัน (มิย 18) หุ้น SBUX ถือว่ามีราคากลางๆไม่ถูก ไม่แพง..ถ้าเรามีหุ้นติดไว้บ้างให้รู้สึกเป็นเจ้าของ คราวหน้าเวลาเข้าร้าน Starbucks แล้วสั่ง Frappuccino แก้วใหญ่ จะได้ไม่รู้สึกผิดมากนักครับ 🙂